การตรวจสอบความใช้ได้ (Validation) เป็นการตรวจสอบรายละเอียดของการดำเนินโครงการโดยผู้ประเมินภายนอกต้องทำการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนและเป็นอิสระเพื่อยืนยันว่าโครงการที่ขอการตรวจสอบความใช้ได้มีการดำเนินานสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ของโครงการ T-VER และระเบียบวิธีการฯ ที่เลือกใช้และมีการประเมินปริมาณการลดการปล่อยและ/หรือดูดกลับก๊ซเรือนกระจกในเอกสารข้อเสนอโครงการ (PDD)อย่างถูกต้องตามข้อกำหนดและระเบียบวิธีการที่เลือกใช้
ความมีสาระสำคัญ (Materiality)
ความมีสาระสำคัญ (Materiality) ในบริบทของโครงการ Standard T-VER คือ ข้อผิดพลาด การละเว้น หรือการบิดเบือนใดๆ ที่จะส่งผลต่อการแสดงข้อมูลก๊าซเรือนกระจก และส่งผลต่อเนื่องไปสู่การตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมาย โดยระดับความมีสาระสำคัญ (Materiality threshold) สำหรับโครงการ T-VER กำหนดไว้ให้เกณฑ์ความไม่สอดคล้องของข้อมูลที่มีผลให้การประเมินก๊าซเรือนกระจกคลาดเคลื่อนจนมีผลต่อผู้ใช้ ไม่เกินร้อยละ 5 ของ ผลรวมการลดการปล่อย และ/หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก สำหรับกระบวนการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบ
ความมีสาระสำคัญสามารถพิจารณาได้ทั้งในเชิงคุณภาพ (Qualitative) และเชิงปริมาณ (Quantitative) ในการประเมินความมีสาระสำคัญในเชิงคุณภาพ ผู้ประเมินภายนอกต้องพิจารณาว่าโครงการมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดของโครงการ T-VER และระเบียบวิธีการที่กำหนดหรือไม่ ความขัดแย้งของข้อมูลในเชิงคุณภาพ อาทิ ลักษณะที่ไม่เข้าข่ายของโครงการ ต้องถูกระบุเป็นความไม่สอดคล้องที่มีสาระสำคัญ ความขัดแย้งของข้อมูลในเชิงคุณภาพอาจจะไม่เด่นชัด เหมือนกับความขัดแย้งของข้อมูลในเชิงปริมาณ เมื่อพบความขัดแย้งของข้อมูลในเชิงคุณภาพ ผู้ประเมินภายนอกควรจะพิจารณาลงความเห็นด้วยความเป็นมืออาชีพ ในประเด็นนั้นๆ ว่าเป็นประเด็นที่มีสาระสำคัญและต้องทำการตรวจสอบหรือขอหลักฐานเพิ่มเติมหรือไม่
ในการประเมินความมีสาระสำคัญในเชิงปริมาณของความผิดพลาด การละเว้นหรือบิดเบือนของข้อมูล ผู้ประเมินภายนอกต้องประเมินความมีสาระสำคัญ ที่ระดับผลรวมของการประเมินการลดการปล่อยและหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ในเอกสารข้อเสนอโครงการหรือรายงานการติดตามประเมินผลให้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง และอยู่ในระดับความมีสาระสำคัญที่กำหนด