ขนาดตัวอักษร:

ภาพรวมกลไก

หลักการขั้นพื้นฐานของโครงการ Premium T-VER

ยื่นคำขอรับรองคาร์บอนเครดิต

หลังจากที่ผู้พัฒนาโครงการได้จัดทำเอกสารประกอบการพิจารณารับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) ให้ถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งรายงานการติดตามประเมินผลปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Monitoring Report: MR) และรายงานการติดตามประเมินผลความเสี่ยงต่อการสูญเสียคาร์บอนจากความไม่ถาวรของโครงการ (Non-permanence Risk) (หากมี) ต้องได้รับการทวนสอบ (Verification) จากผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจ (VVB) ซึ่งจะกำหนดปริมาณเครดิตสำรอง (buffer credits) ไว้ในบัญชีเครดิตสำรอง (Pooled Buffer Account) ของระบบทะเบียน เพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยงกรณีที่เกิดการสูญเสียคาร์บอนจากความไม่ถาวรของโครงการ

ผู้พัฒนาโครงการต้องได้รับรายงานการทวนสอบ (Verification Report) จากผู้ประเมินภายนอกฯ เพื่อนำไปประกอบการยื่นขอรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) นอกจากนี้ ผู้พัฒนาโครงการต้องจัดทำรายงานการติดตามประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืนและการป้องกันผลกระทบด้านลบ (SD & Safeguards Assessment Report) เพื่อให้ อบก. ตรวจสอบและใช้ประกอบการพิจารณารับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก

ขั้นตอนการยื่นคำขอรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) มีขั้นตอนและมีรายละเอียด ดังนี้

  1. ผู้พัฒนาโครงการจัดทำรายงานการติดตามประเมินผลปริมาณก๊าซเรือนกระจก รายงานการติดตามประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืนและผลการป้องกันผลกระทบด้านลบ และรายงานการติดตามประเมินผลความเสี่ยงต่อการสูญเสียคาร์บอนจากความไม่ถาวรของโครงการ (หากมี)
  2. ผู้พัฒนาโครงการให้ผู้ประเมินภายนอกฯ ทวนสอบรายงานการติดตามประเมินผลปริมาณก๊าซเรือนกระจก และรายงานการติดตามประเมินผลความเสี่ยงต่อการสูญเสียคาร์บอนจากความไม่ถาวรของโครงการ (หากมี) และให้ อบก. ตรวจสอบรายงานการติดตามประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืนและผลการป้องกันผลกระทบด้านลบ และปรับปรุงแก้ไขเอกสารให้ถูกต้อง ครบถ้วน
  3. ผู้พัฒนาโครงการส่งคำขอและเอกสารประกอบการขอรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก ไปยัง อบก. และชำระค่าธรรมเนียม
  4. อบก. รับเอกสารประกอบการขอรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากผู้พัฒนาโครงการและดำเนินการตรวจสอบเอกสารเบื้องต้นโดยพิจารณาความครบถ้วนและความถูกต้องของเอกสารทั้งหมด หากพบว่าไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง อบก. จะแจ้งกลับไปยังผู้พัฒนาโครงการให้แก้ไขหรือจัดส่งเอกสารเพิ่มเติมโดยผู้พัฒนาโครงการ/เจ้าของโครงการ ต้องแก้ไขหรือจัดส่งเอกสารเพิ่มเติมภายใน 15 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก อบก.
  5. อบก. ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและสาระสำคัญของโครงการโดยพิจารณาว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์การรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือไม่ หากขาดข้อมูลในประเด็นสำคัญที่ใช้ประกอบการวิเคราะห์โครงการ อบก. จะแจ้งให้ผู้พัฒนาโครงการแก้ไข หรือจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมทั้งนี้ อบก. อาจไปตรวจสอบโครงการ ณ ที่ตั้งโครงการเพิ่มเติม
  6. อบก. นำเสนอรายละเอียดโครงการที่ผ่านการตรวจสอบแล้วต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการและกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อพิจารณากลั่นกรองโครงการ และ อบก.นำเสนอคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกให้ความเห็นชอบในการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อไป
  7. อบก. แจ้งผลการพิจารณารับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก และปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ถูกหักเพื่อใช้เป็นหลักประกันความเสี่ยงกรณีที่เกิดการสูญเสียคาร์บอนจากความไม่ถาวรของโครงการ (หากมี) ให้ผู้พัฒนาโครงการทราบ

กำหนดกรอบระยะเวลาการพิจารณารับรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ภายใน 60 วันทำการ

ทั้งนี้ การพิจารณารับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนเครดิต จากโครงการ T-VER มาจรฐานสูงให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ฉบับที่บังคับใช้

ขั้นตอนการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก

0
Shares
Image

ที่อยู่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

120 หมู่ที่ 3 ชั้น 9 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ
แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
Tel : 02 141 9841-9
Fax : 02 143 8404
E-Mail : info@tgo.or.th
E-Mail : saraban_tgo@tgo.or.th

0
Shares