- โปรแกรม: Standard T-VER
ภายหลังจากที่โครงการได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ Premium T-VER แล้ว และโครงการมีการดำเนินโครงการและมีผลการลดก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาคิดเครดิต ผู้พัฒนาโครงการสามารถขอรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ (คาร์บอนเครดิต) โดยผู้พัฒนาโครงการต้องจัดทำรายงานการติดตามประเมินผลปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Monitoring Report : MR) เพื่อขอการรับรองคาร์บอนเครดิตในช่วงระยะเวลาใดๆ ภายใต้ช่วงระยะเวลาการคิดเครดิต ซึ่งผู้พัฒนาโครงการต้องไม่ร้องขอให้มีการรับรองคาร์บอนเครดิต (TCERs) สำหรับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ในช่วงระยะเวลาการติดตามผลเดียวกัน เกินกว่า 1 ครั้ง โดยรายงานการติดตามประเมินผล ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 การติดตามผลการดำเนินโครงการ
ผู้พัฒนาโครงการต้องระบุรายละเอียดผลการดำเนินโครงการในช่วงระยะเวลาที่ขอรับรองในรายงาน เช่น สถานภาพการดำเนินโครงการ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เคยได้รับการรับรอง การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ พารามิเตอร์ที่ติดตามผล และที่ไม่ต้องติดตามผล
ส่วนที่ 2 การคำนวณการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้จากโครงการ
ผู้พัฒนาโครงการต้องแสดงการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริงที่ได้จากข้อมูลที่จัดเก็บไว้ตามระเบียบวิธีฯ ที่ระบุในเอกสารข้อเสนอโครงการฉบับที่ได้รับการขึ้นทะเบียน กรณีที่ใช้ระบียบวิธีฯ มากกว่า 1 ระเบียบวิธีฯ ให้แสดงการคำนวณจำแนกตามระเบียบวิธีฯ และแสดงผลการคำนวณแยกตามปีปฏิทิน
นอกจากนี้ ผู้พัฒนาโครงการต้องทำการเปรียบเทียบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ขอรับรองกับค่าคาดการณ์จากการประเมิน (ตัวเลขที่ระบุในเอกสารข้อเสนอโครงการ) เมื่อเทียบในช่วงระยะเวลาที่เท่ากัน เช่น ระยะเวลา 10 เดือน ระยะเวลา 1 ปี เป็นต้น พร้อมระบุสาเหตุของความแตกต่างของค่าดังกล่าว
ภาคผนวก เอกสาร/หลักฐานประกอบ
ผู้พัฒนาโครงการแนบเอกสาร หรือหลักฐานประกอบที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดส่งไฟล์ Excel แสดงการคำนวณพร้อมข้อมูลในการคำนวณ
การติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการ Premium T-VER (Premium T-VER Monitoring) โดย อบก.
การติดตามประเมินผลโครงการ Premium T-VER เป็นหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญในกระบวนการบริหารจัดการโครงการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ด้วยเหตุนี้ อบก. จึงได้นำการติดตามประเมินผลมาประยุกต์ใช้ในงานส่งเสริมและพัฒนากลไกการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกสำหรับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ Premium T-VER เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต่อเนื่องของการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจก และเป็นการให้คำปรึกษา แนะนำ รับฟังปัญหา/อุปสรรค ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ ทั้งนี้ อบก. ได้กำหนดให้มีการติดตามประเมินผลโครงการ Premium T-VER หลังการขึ้นทะเบียนโครงการและติดตามประเมินผลเป็นประจำทุกปีตลอดระยะเวลาคิดเครดิตของโครงการ
วัตถุประสงค์การติดตามประเมินผลโครงการ Premium T-VER
- เพื่อตรวจสอบผลการดำเนินโครงการ Premium T-VER ว่าเป็นไปตามเอกสารข้อเสนอโครงการหรือรายงานการติดตามประเมินผลปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือไม่
- เพื่อเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการรวมทั้งให้แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องในกรณีที่พบการเปลี่ยนแปลงการดำเนินกิจกรรมของโครงการ
- เพื่อตรวจสอบข้อมูลผลการจัดการหรือป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ Premium T-VER
- เพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการ Premium T-VER รวมทั้งตอบข้อซักถามจากเจ้าของโครงการและ/หรือผู้พัฒนาโครงการ
ขั้นตอนการติดตามประเมินผลโครงการ Premium T-VER
การติดตามประเมินผลโครงการ Premium T-VER อบก. กำหนดให้มีการดำเนินการ 2 รูปแบบ ดังนี้
- อบก. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล เป็นผู้ดำเนินการติดตามประเมินผลโครงการ Premium T-VER โดยเจ้าหน้าที่ของ อบก. ที่ได้รับมอบหมาย
- อบก. มอบหมายให้หน่วยงานภายนอก (Third Party) ที่มีข้อตกลงความร่วมมือกับ อบก. ในการดำเนินงานติดตามประเมินผลโครงการ T-VER
(ปัจจุบันมีสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1-16 ที่มีข้อตกลงความร่วมมือกับ อบก. ในการดำเนินการติดตามประเมินผลโครงการ Premium T-VER แทน อบก.)