ขั้นตอนการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก
ผู้พัฒนาโครงการต้องจัดทำเอกสารประกอบการพิจารณารับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) ให้ถูกต้องและครบถ้วน โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้จากเว็บไซต์ https://ghgreduction.tgo.or.th/th/premium-t-ver-download.html ซึ่งรายงานการติดตามประเมินผลปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Monitoring Report: MR) และรายงานการติดตามประเมินผลความเสี่ยงต่อการสูญเสียคาร์บอนจากความไม่ถาวรของโครงการ (Non-permanence Risk) (หากมี) ต้องได้รับการทวนสอบ (Verification) จากผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจ (VVB) ซึ่งจะกำหนดปริมาณเครดิตที่ต้องสำรอง (buffer credits) ไว้ในบัญชีเครดิตสำรอง (buffer account) ของระบบทะเบียน เพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยงกรณีที่เกิดการสูญเสียคาร์บอนจากความไม่ถาวรของโครงการ
ผู้พัฒนาโครงการต้องได้รับรายงานการทวนสอบ (Verification Report) จากผู้ประเมินภายนอกฯ เพื่อนำไปประกอบการยื่นขอรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) นอกจากนี้ ผู้พัฒนาโครงการต้องจัดทำรายงานการติดตามประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืนและการป้องกันผลกระทบด้านลบ (SD & Safeguards Assessment Report) เพื่อให้ อบก. ตรวจสอบและใช้ประกอบการพิจารณารับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก