ขนาดตัวอักษร:

คลังความรู้

คลังความรู้อื่นๆ

All Stories

  • โปรแกรม: Standard T-VER

การต่ออายุโครงการ

การต่ออายุโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย

(Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)

        ผู้พัฒนาโครงการที่ประสงค์จะขอต่ออายุโครงการ T-VER ต้องยื่นคำขอและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปยังองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ไม่น้อยกว่า 180 วัน ก่อนระยะเวลาคิดเครดิตของโครงการสิ้นสุด ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอน ดังนี้

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข

  1. ดำเนินกิจกรรมของโครงการเป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมีการดำเนินงานสอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาโครงการ T-VER
  2. สอดคล้องกับระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER Methodology) ตามที่คณะกรรมการกำหนด
  3. ประเมินศักยภาพการลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกของโครงการเป็นไปตามระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกฯ ตามข้อ 2) และสอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาโครงการ T-VER
  4. ใช้วิธีการติดตามผลและรายงานการลด/กักเก็บก๊าซเรือนกระจกตามระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกฯ ตามข้อ 2)

เอกสารที่ใช้ในการขอต่ออายุโครงการ T-VER

  1. ใบคำขอต่ออายุโครงการ T-VER จำนวน 1 ฉบับ
  2. เอกสารข้อเสนอโครงการ (Project Design Document: PDD) ฉบับใหม่
  3. ไฟล์การคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบไฟล์ MS Excel
  4. รายงานการประเมินผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit Report) ฉบับใหม่
  5. เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง อื่นๆ
  6. อุปกรณ์บันทึกข้อมูลที่บันทึกข้อมูลโครงการทั้งหมด จำนวน 1 ชุด (เฉพาะกรณีที่ผู้ยื่นคำขอนำส่งเอกสารทางไปรษณีย์ หรือ ณ สถานที่ทำการขององค์การ)

ขั้นตอนการต่ออายุโครงการ T-VER

  1. ส่งคำขอต่ออายุโครงการ T-VER และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ไปยัง อบก. ทางอีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
  2. อบก. ตรวจสอบความครบถ้วนและถูกต้องของเอกสาร กรณีเอกสารไม่ครบถ้วน/ไม่ถูกต้อง อบก.จะแจ้งให้ผู้พัฒนาโครงการปรับแก้ไขและส่งกลับไปยัง อบก. ภายใน 15 วันทำการ หากผู้พัฒนาโครงการไม่จัดส่งเอกสารไปยัง อบก. ตามกำหนดเวลา อบก.จะจำหน่ายคำขอออกจากสารบบ
  3. เจ้าหน้าที่ อบก. จะพิจารณาลงพื้นที่โครงการ เพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ เหมาะสม และพอเพียง ตามหลักเกณฑ์โครงการ และระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกฯ
  4. อบก. จะนำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการและกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อกลั่นกรองความถูกต้อง ภายในระยะเวลา 30 วันทำการ นับจากวันที่เอกสารโครงการครบถ้วนและถูกต้อง
  5. กรณีโครงการผ่านการพิจารณากลั่นกรองโดยคณะอนุกรรมการฯ อบก.จะนำเสนอคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่ออายุโครงการ รวมระยะเวลาพิจารณาทั้งหมดไม่เกิน 60 วันทำการ นับจากวันที่เอกสารโครงการครบถ้วนและถูกต้อง
  6. อบก. แจ้งผลการพิจารณาต่ออายุโครงการให้ผู้พัฒนาโครงการทราบ และออกหนังสือแจ้งผลให้ผู้ยื่นคำขอต่ออายุโครงการ T-VER

วิธีการจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการ (Project Design Document: PDD) ฉบับใหม่

      1) ประเภทโครงการการพัฒนาพลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การจัดการของเสีย และการจัดการในภาคขนส่ง

    • ใช้ระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER Methodology) ฉบับเดิม (กรณีใช้ระเบียบวิธีฯ ฉบับใหม่ ต้องดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานหลังขึ้นทะเบียน (Revalidation))
    • ต้องประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการ ณ ปัจจุบันของโครงการ โดยใช้ข้อมูลกิจกรรม (Activity Data) 3 ปีย้อนหลังล่าสุดเฉลี่ย มาใช้ในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกรณีฐาน (Baseline Emission) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินโครงการ (Project Emission) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนอกขอบเขตโครงการ (Leakage Emission)
    • กำหนดให้โครงการมีระยะเวลาคิดเครดิต 7 ปี
    • กำหนดให้วันเริ่มต้นคิดเครดิตของโครงการที่จะขอต่ออายุเป็นวันถัดไปนับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาคิดเครดิตของโครงการ

       2) ประเภทโครงการการเกษตร

    • ใช้ระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER Methodology) ฉบับเดิม (กรณีใช้ระเบียบวิธีฯ ฉบับใหม่ ต้องดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานหลังขึ้นทะเบียน (Revalidation))
    • ประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้โดยใช้ข้อมูลเดียวกันกับการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกรณีฐาน (Baseline Emission) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินโครงการ (Project Emission) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนอกขอบเขตโครงการ (Leakage Emission) ในเอกสารข้อเสนอโครงการฉบับเดิม
    • การประเมินการกักเก็บคาร์บอนในกรณีฐาน ได้แก่ พืชเกษตรยืนต้น
      • กรณีจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการ ให้ใช้ค่าคาดการณ์ปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในปีสุดท้ายของระยะเวลาคิดเครดิตที่ระบุในเอกสารข้อเสนอโครงการเดิมเป็นค่ากรณีฐานใหม่
      • กรณีการขอรับรองคาร์บอนเครดิต ให้ใช้ปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในปีสุดท้ายของระยะเวลาคิดเครดิตที่ผ่านการทวนสอบเป็นค่ากรณีฐานใหม่
    • การคาดการณ์ปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในปีใด ๆ สามารถใช้อัตราเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนตามเอกสารข้อเสนอโครงการเดิม หรือใช้ข้อมูลย้อนหลังของโครงการอย่างน้อย 3 ปีมาหาค่าเฉลี่ย ในการประเมิน
    • กำหนดให้โครงการมีระยะเวลาคิดเครดิต 7 ปี
    • กำหนดให้วันเริ่มต้นคิดเครดิตของโครงการที่จะขอต่ออายุเป็นวันถัดไปนับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาคิดเครดิตของโครงการ

         3) ประเภทโครงการปลูกต้นไม้หรือปลูกป่า และการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูป่า

    • ใช้ระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER Methodology) ฉบับเดิม (กรณีใช้ระเบียบวิธีฯ ฉบับใหม่ ต้องดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานหลังขึ้นทะเบียน (Revalidation))
    • การประเมินการกักเก็บคาร์บอนในกรณีฐาน
      • กรณีจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการ ให้ใช้ค่าคาดการณ์ปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในปีสุดท้ายของระยะเวลาคิดเครดิตที่ระบุในเอกสารข้อเสนอโครงการเดิมเป็นค่ากรณีฐานใหม่
      • กรณีการขอรับรองคาร์บอนเครดิต ให้ใช้ปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในปีสุดท้ายของระยะเวลาคิดเครดิตที่ผ่านการทวนสอบเป็นค่ากรณีฐานใหม่
    • การประเมินอัตราการเปลี่ยนแปลงรายปีของพื้นที่ป่า (Annual Rate Conversion)
      • ทบทวนอัตราการเปลี่ยนแปลงรายปีของพื้นที่ป่าให้สอดคล้องกับการดำเนินการ ณ ปัจจุบัน โดยกำหนดให้ระยะเวลาของข้อมูลการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าที่นำมาใช้ ไม่น้อยกว่า 5 ปี หากอัตราการเปลี่ยนแปลงรายปีของพื้นที่ป่ามีค่ามากกว่า 0 (ศูนย์) (พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น) กำหนดให้ค่า ARC=0 (ศูนย์)
    • การคาดการณ์ปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในปีใด ๆ สามารถใช้อัตราเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนตามเอกสารข้อเสนอโครงการเดิม หรือใช้ข้อมูลย้อนหลังของโครงการอย่างน้อย 3 ปีมาหาค่าเฉลี่ย ในการประเมิน
    • กำหนดให้โครงการมีระยะเวลาคิดเครดิต 10 ปี
    • กำหนดให้วันเริ่มต้นคิดเครดิตของโครงการที่จะขอต่ออายุเป็นวันถัดไปนับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาคิดเครดิตของโครงการ
0
Shares
Image

ที่อยู่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

120 หมู่ที่ 3 ชั้น 9 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ
แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
Tel : 02 141 9841-9
Fax : 02 143 8404
E-Mail : info@tgo.or.th
E-Mail : saraban_tgo@tgo.or.th

0
Shares