ผู้พัฒนาโครงการต้องดำเนินการแก้ไขเอกสารข้อเสนอโครงการ (Project Design Document: PDD) ที่ประกอบด้วยรายละเอียดโครงการ ระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ การคำนวณการดูดกลับ/การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แผนการติดตามผลการดำเนินโครงการ
เอกสารข้อเสนอโครงการ ประกอบด้วย
- ส่วนที่ 1 รายละเอียดโครงการ
- ส่วนที่ 2 ระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจก
- ส่วนที่ 3 การคำนวณการดูดกลับ/การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- ส่วนที่ 4 แผนการติดตามผลการดำเนินโครงการ
- ภาคผนวก เอกสาร/หลักฐานประกอบ
- ส่วนที่ 1 รายละเอียดโครงการ
รายละเอียดและกิจกรรมของโครงการ จะต้องแสดงให้เห็นภาพรวมของกิจกรรมโครงการและประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ เช่น วัตถุประสงค์ของกิจกรรมโครงการ รายละเอียดการดำเนินงานโดยย่อของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของโครงการ ลักษณะโครงการ การดำเนินงานก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการ T-VER กิจกรรมการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกของโครงการ วัตถุดิบ แหล่งที่มา และปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ จำนวนวันในการเดินระบบ และปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ในระยะเวลาคิดคาร์บอนเครดิตของโครงการ การนับซ้ำ การพิสูจน์การดำเนินงานเพิ่มเติมจากการดำเนินงานตามปกติ (Additionality) สิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินของโครงการ (เฉพาะโครงการประเภทป่าไม้และพื้นที่สีเขียว และการเกษตร) และการประเมินความเสี่ยงต่อความไม่ถาวรของโครงการ (non-permanence risk) (เฉพาะโครงการประเภทป่าไม้และพื้นที่สีเขียว และการเกษตร)
- ส่วนที่ 2 ระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจก
รายละเอียดการดำเนินโครงการ ผู้พัฒนาโครงการจะต้องระบุระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER Methodology) และเครื่องมือ (Tool) ที่เลือกใช้ ซึ่งต้องเป็นฉบับล่าสุด พร้อมระบุเหตุผลการเลือกใช้ระเบียบวิธีฯ ดังกล่าว โดยระเบียบวิธีฯ ดังกล่าวต้องสอดคล้องกับกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกของโครงการ
เงื่อนไขของกิจกรรมโครงการ อธิบายลักษณะกิจกรรมของโครงการที่สอดคล้องกับระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกที่เลือกใช้ อธิบายเหตุผลของโครงการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเงื่อนไขของกิจกรรมของโครงการตามที่กำหนดไว้ในระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกที่เลือกใช้ ถ้ามีเอกสาร/หลักฐานประกอบให้ระบุพร้อมทั้งแนบเอกสาร/หลักฐานที่เกี่ยวข้องในภาคผนวก กรณีโครงการเลือกใช้ระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 1 ระเบียบวิธี ให้ระบุกิจกรรมโครงการที่เข้าข่ายแต่ละระเบียบวิธี
ผู้พัฒนาโครงการต้องระบุข้อมูลกรณีฐาน อธิบายลักษณะการดำเนินงานก่อนมีการดำเนินโครงการ และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องที่มีผลต่อการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกรณีฐาน
- ส่วนที่ 3 การคำนวณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ผู้พัฒนาโครงการต้องแสดงการคำนวณปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกของโครงการ ซึ่งต้องเป็นไปตามระเบียบวิธีการฯ และเครื่องมือการคำนวณที่เลือกใช้ โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์โครงการ T-VER
ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ที่ระบุในเอกสารข้อเสนอโครงการ และปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ที่ระบุในรายงานการติดตามประเมินผล ให้ระบุเป็นจำนวนเต็มเท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกแล้ว พบว่าค่าที่ได้มีเศษทศนิยม ให้คำนวณโดยใช้ทศนิยม 2 ตำแหน่ง เมื่อได้ผลลัพธ์สุดท้าย ได้แก่ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ และปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ ให้ตัดเลขทศนิยมทั้งหมดทิ้ง และแสดงผลเป็นเลขจำนวนเต็ม ตัวอย่างดังนี้
ตัวอย่างการแสดงผลเป็นตัวเลขของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้
ทั้งนี้ กรณีที่โครงการขอรับรองคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาคิดเครดิตมากกว่า 1 ปี หรือ คาบเกี่ยวปีปฏิทิน ให้รายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกรณีฐาน จากการดำเนินโครงการ นอกขอบเขตโครงการ และผลการลดก๊าซเรือนกระจก ในรายงานการติดตามประเมินผล แยกตามปีปฏิทิน โดยให้ตัดเลขทศนิยมทั้งหมดทิ้งและรายงานผลการลดก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปีเป็นจำนวนเต็ม
- ส่วนที่ 4 แผนการติดตามผลการดำเนินโครงการ
การติดตามผลการดำเนินโครงการ ผู้พัฒนาโครงการต้องแสดงถึงรายละเอียดแผนการติดตามผล การแสดงข้อมูลพารามิเตอร์ที่ไม่ต้องติดตามตามผล (ค่าอ้างอิงต่างๆ) และที่ต้องติดตามผลตามที่ระบุในระบียบวิธีการฯ และเครื่องมือการคำนวณที่เลือกใช้ รวมถึงรายละเอียดในการตรวจวัด วิธีการตรวจวัด หรือการได้มาซึ่งข้อมูล ความถี่ในการตรวจวัด รวมถึงการคำนวณเพื่อประเมินปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การติดตามผลการดำเนินโครงการควรจัดทำเป็นแผนการติดตามผล (Monitoring Plan) เพื่อช่วยให้ผู้พัฒนาโครงการหรือเจ้าของโครงการสามารถติดตามผลการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง เพื่อให้มั่นใจว่าปริมาณการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกจะสามารถตรวจวัดและทวนสอบได้
แผนการติดตามผล (Monitoring Plan) ประกอบไปด้วยรายละเอียดในการตรวจวัดพารามิเตอร์ วีธีการตรวจวัด หรือการได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง ความถี่ในการตรวจวัด รวมถึงการคำนวณ เพื่อประเมินปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้แผนการติดตามผลจะต้องสอดคล้องกับระบียบวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกของโครงการ โดยแผนการติดตามผลจะถูกพิจารณาจากผู้ประเมินภายนอก (VVB)
- ภาคผนวก เอกสาร/หลักฐานประกอบ
ผู้พัฒนาโครงการสามารถแนบเอกสาร หรือหลักฐานประกอบที่เกี่ยวข้อง เช่น เอกสาร รง. 4 โฉนดที่ดิน งานวิจัยที่นำมาอ้างอิง ค่าออกแบบ หนังสือรับรองอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีจากบริษัทผู้ผลิต เอกสารประกอบการคำนวณ เอกสารประกอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เป็นต้น