องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้พัฒนา“โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Project: T-VER)” หรือที่เรียกย่อๆ ว่า“โครงการ T-VER” เพื่อเป็นกลไกที่สนับสนุนให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยโดยความสมัครใจ และสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยและ/หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ T-VER นี้ ไปจำหน่ายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในประเทศได้และยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) ในด้านต่างๆ เช่น ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มรายได้แก่ชุมชน เพิ่มมูลค่าของเสียหรือของเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นต้น ดังนั้น โครงการ T-VER สามารถตอบสนองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศและยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสู่เศรษฐกิจเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ (Green Growth Economy and Low Carbon Society)

หลักการและเหตุผล

ปัจจุบันนานาประเทศต่างร่วมมือกันที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases : GHGs) ที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน (Global Warming) เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสนานาประเทศพยายามหามาตรการหรือกลไกที่จะส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศของตน โดยให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศน้อยที่สุดจากการศึกษาได้ข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับพบว่า กลไกตลาด (Carbon market) เป็นกลไกที่เหมาะสมในการที่จะส่งเสริมให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพในมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์

วัตถุประสงค์

  1.  เพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจขึ้นในประเทศ
  2. เพื่อส่งเสริมให้เกิดตลาดคาร์บอนในประเทศ สำหรับรองรับสถานการณ์ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต
  3. เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนในการรับมือกับ พันธกิจการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

การบริหารจัดการโครงการ T-VER

คณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้มอบหมายให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกำกับการดำเนินโครงการ T-VER คือ คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการและกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการและกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก ทำหน้าที่พิจารณาให้การขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER รับรองปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากโครงการ พิจารณาการขึ้นทะเบียนผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจ (Validation and Verification Body: VVB) รวมถึงทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบระเบียบวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ

โครงสร้างการบริหารจัดการ

กรอบการดำเนินงาน

โครงการ T-VER บริการจัดการโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดยมีคณะบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
  1. คณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก อำนาจหน้าที่คณะกรรมองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562
  2. คณะอนุกรรมการการพิจารณาโครงการการและกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก

     อำนาจหน้าที่

  • พิจารณากลั่นกรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) และปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกกำหนด เสนอต่อคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกให้ความในการขึ้นทะเบียนโครงการ และรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก
  • พิจารณาและให้ความเห็นต่อหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียน และรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก และหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนผู้ประเมินภายนอกสําหรับโครงการภาคสมัครใจ เสนอต่อคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เห็นชอบและประกาศใช้
  • พิจารณาและให้ความเห็นต่อระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER Methodology) เครื่องมือการคํานวณ (Tool) ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) และให้ความเห็นชอบ ทบทวนปรับปรุง และยกเลิกระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจเครื่องมือการคํานวณ และค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เสนอต่อคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อทราบและประกาศใช้
  • พิจารณาและให้ความเห็นต่อการขึ้นทะเบียน พัก และเพิกถอน ผู้ประเมินภายนอกสําหรับโครงการภาคสมัครใจ (Validation and Verification Body: VVB) เสนอต่อคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เห็นชอบ
  • ปฏิบัติงานอื่นใด ตามที่คณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกมอบหมาย
     องค์ประกอบ
      ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน และอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการ อบก. เห็นสมควร
Image
Image

ที่อยู่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

120 หมู่ที่ 3 ชั้น 9 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ
แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
Tel : 02 141 9841-47 | Fax : 02 143 8403 | E-Mail : info@tgo.or.th